Get Adobe Flash player

เมนู

ผลงานวิชาการ

Data Center

สำหรับเจ้าหน้าที่

ล็อกอิน

คุณอยู่ที่นี่

หน้าแรก

หอบหืดคืออะไร

     โรคหอบหืดเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ ซึ่งทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่ามีอาการหายใจลำบาก หายใจได้ไม่สะดวก ไอมาก เกิดเนื่องมาจากการหดตัวของหลอดเลือดขนาดเล็ก
และน้ำเมือกเสมหะอุดกั้นทางเดินหายใจ ความรุนแรงของโรคแต่ละคนจะแตกต่างกัน บางคนมีอาการรุนแรงมากหากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงทีอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
ผู้ที่มีอาการของโรคหอบหืดอยู่บ่อยๆ แม้จะไม่ได้มีอาการทุกวัน ควรจะได้รับการรักษาที่ต่อเนื่อง เพราะแสดงว่าภายในปอดมีการอักเสบเรื้อรัง
หากทิ้งไว้ไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของปอดลดลงมีอาการเหนื่อยง่าย การรักษาในภายหลังจะยากขึ้นอาจได้ผลน้อยหรือไม่ได้ผลเลย เพราะปอดมีผังผืดมาก

โรคหอบหืดเกิดขึ้นได้อย่างไร

ปัจจัยหลัก 2 ประการ ที่มีผลต่อการเกิดโรคหอบหืด คือ

1. กรรมพันธุ์หรือปัจจัยจากผู้ป่วยเอง มีการถ่ายทอดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้มาจากบิดา หรือมารดาหรือจากทั้งสองท่าน
2. ปัจจัยจากสภาพแวดล้อม เรื่องนี้ยังมีการศึกษากันอยู่มาก พบว่ามีหลายเหตุที่มีความเกี่ยวเนื่องกับการพบโรคหอบหืด เช่น มลภาวะในอากาศ, สารก่อภูมิแพ้, สภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ในบ้านซึ่งอาจจะ “ สะอาดเกินจำเป็น”

อะไรบ้างที่กระตุ้นอาการหอบหืด

- สารก่อภูมิแพ้ เช่น ไรฝุ่น, เชื้อรา, แมลงสาบ, สัตว์เลี้ยง, ละอองเกสรหญ้าหรือวัชพืช
- สารก่อความระคายเคืองต่อทางเดินหายใจ เช่น บุหรี่, ควัน, มลพิษในอากาศ, กลิ่นแรง ๆ ฉุน ๆ , น้ำหอมฉุน ๆ
- อาหารสำหรับผู้ป่วยบางรายอาจทำให้เกิดอาการหอบ ตัวอย่างเช่น ถั่วลิสง, ไข่, ช็อกโกแล็ต, อาหารทะเล, ไวน์แดง, อัลมอนด์, เฮเซลนัท (แต่ผู้ป่วยบางรายอาจรับประทานอาหารเหล่านี้โดยไม่มีอาการรุนแรง)
- อารมณ์ซึ่งรุนแรงทั้งดีใจมากหรือเสียใจมาก, กังวลมาก
- เชื้อหวัด, การติดเชื้อในทางเดินหายใจ, ไซนัสอักเสบ
- การออกกำลังกายหักโหมในสภาวะทีไม่เหมาะสม เช่น ร้อนจัด เย็นจัด
- ยางบางประเภท เช่น ยาลดไข้แก้ปวดพวกแอสไพริน, ยาลดความดันกลุ่มเบต้าบล็อคเกอร์
- โรคกรดในกระเพาะอาหารเอ่อขึ้นมาในหลอดอาหาร อาจมีการอืดแน่นท้อง, แสบท้อง
- อากาศเปลี่ยนแปลงอย่างกระทันหัน

แนวทางการรักษาหอบหืด
      1. ผู้ป่วยและครอบครัวต้องให้ความสนใจกับโรคของตนเอง พยายามศึกษาหาความรู้ให้มาก อานหนังสือพิมพ์ ซักถามแพทย์หรือผู้รู้ “ตัวเราย่อมรู้จักตัวเราเองอย่างดีที่สุด”
     2. หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการหอบหืด ดูแลทำความสะอาดบ้านเพื่อลดปริมาณสารก่อภูมิแพ้ อย่างที่กล่าวเอาไว้ในหัวข้อก่อนหน้านี้
     3. การใช้ยารักษา แบ่งออกได้เป็นอีก 2 ประเภท
- ยารักษาโรคหอบหืด และป้องกันอาการโดยตรง เช่น ยาพ่นประเภทสเตียรอยด์ ซึ่งต้องใช้ทุกวัน แม้ไม่มีอาการ
- ยารักษาอาการหอบ คือยาขยายหลอดลม เช่น แวนโทลิน, บริคานีล, ใช้เมื่อมีอาการ บางกรณีอาจต้องใช้ติดต่อกันทุกวันไประยะหนึ่ง
     4. ตรวจการทำงานของปอดเป็นระยะเพื่อติดตามดูผลการรักษา โดยใช้เครื่องเป่าปอดเมื่อปฏิบัติตัวตามที่แพทย์แนะนำแล้ว จะดูว่าการรักษานี้ได้ผลเมื่อผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติมากที่สุด มีอาการหอบน้อยลง มาพบแพทย์ด้วยความฉุกเฉินน้อยลง ใช้ยารักษาอาการหอบ(ขยายหลอดลม) น้อยลง

ยาที่ใช้ในโรคหอบหืด

     ขอเรียนย้ำอีกครั้งว่าผู้ป่วยและครอบครัวต้องพยายามเข้าใจแยกชนิดของยาให้ดีว่าอันใดใช้ในยามฉุกเฉินเมื่อมีอาการ อันใดต้องใช้ทุกวันแม้ไม่มีอาการ ทำไมต้องใช้ยาทุกวันแม้ไม่มีอาการ ? โรคหอบหืดเป็นโรคซึ่งมีการอักเสบของปอดมากหรือน้อยตลอดเวลา (ไม่ต้องมีการติดเชื้อโรคก็ได้) เมื่อเรามีอาการของหลอดลมตีบ เช่น ไอเสมหะมาก, แน่นหน้าอก, หายใจไม่สะดวกนั่นแสดงว่า การอักเสบนั้นได้ลุกลามใหญ่โตแล้ว ซึ่งกว่าที่เราจะสามารถลดการอักเสบนี้ต้องใช้ยามาก เปรียบไปก็เหมือนกับตอนไม่มีอาการคล้ายกับกองถ่านแดง ๆ มีขี้เถ้าคลุมอยู่เรามองไม่เห็น เปลวไฟไม่รู้สึกร้อนแค่อุ่น ๆ จะดับกองถ่านแดงนี้ ก็แด่ใช้น้ำไม่กี่ขันราดลงไปเหมือนกับที่ตอนเราไม่มีอาการหอบหืด หากเราใช้ยาพ่นสเตียรอยด์เป็นประจำ เราก็สามารถคุมไม่ให้มีการลุกลามของโรคได้ หากเราปล่อยให้กองถ่านติดไฟหรือมีเชื้อไฟเพิ่มขึ้น กลายเป็นเปลวไฟใหญ่ เป็นอันตราย ดับได้ยาก หากจะดับก็ต้องใช้น้ำมากขึ้น เหมือนกับตอนมีอาการหอบชัดเจนเสียแล้ว ต้องโหมใช้ยาแรงมากขึ้นเพื่อจะดับอาการหอบหืด ฉะนั้นยาพ่นสเตียรอยด์จึงจำเป็นต้องใช้ทุกวันเพื่อไม่ให้มีการลุกลามของโรค ช่วยรักษาเนื้อปอดไม่ให้เสื่อมเร็วหรือกลายเป็นผังผืด

1. กลุ่มยารักษาโรคป้องกันไม่ให้มีอาการ ต้องใช้ทุกวัน ได้แก่
     - ยาพ่นสเตียรอยด์ ซึ่งมีฤทธิ์ต้านการอักเสบกว้างได้ผลดีในโรคหอบหืด ถือเป็นยาสำคัญอันดับหนึ่ง ยาพ่นสเตียรอยด์นี้ไม่ใช่ยาแบบที่นักกีฬาหรือนักเพาะกายบางคนใช้ ยาสเตียรอยด์แบบพ่นนี้ออกฤทธิ์เฉพาะที่ หากถูกดูดซึมเข้าร่างกายจะถูกกำจัดโดยตับอย่างรวดเร็ว ผลข้างเคียงก็มีอยู่บ้าง แดต่เทียบกับคุณประโยชน์แล้ว ยานี้ยังสมควรที่จะใช้ได้อย่างเหมาะสม ผลข้างเคียง เช่น เชื้อราขึ้นในคอ หรือเสียงแห้ง สามารถทำให้ลดลงได้ หากพ่นยาอย่างถูกวิธี ให้ยาเข้าหลอดลมไม่ใช่ไปตกอยู่แต่ในคอ และให้กลั้วคอบ้วนนปากหลังการใช้ยาพ่นสเตียรอยด์ทุกครั้ง ตัวอย่างยานี้ เช่น พัลมิคอร์ท (Pulmicort), อินเฟลมมัยด์ (inflammide) , ฟลิกโซไทด์ (Flixotide), เซเรไทด์ (Seretide), เบโคลเมท (Beclomet) เป็นต้น
     ปัญหาอีกประการหนึ่งของยาประเภทสเตียรอยด์ในเด็ก คือ เรื่องน่ากลัวว่าจะกดการเจริญเติบโต เรื่องนี้ได้มีการศึกษาวิจัย และประชุมกันมากในสหรัฐอเมริกา และ ยุโรป การศึกษาส่วนมากพบว่าผลต่อการเจริญเติบโตมีเกิดขึ้นจริงในช่วงระยะแรกที่เริ่มใช้ แต่ต่อมาผู้ป่วยเด็กจะเริ่มเจริญเติบโตตามศักยภาพของตน สำหรับระยะยาวแล้ว มีพบว่าการใช้ยาพ่นสเตียรอยด์บางประเภททำให้ส่วนสูงตอนโตเป็นผู้ใหญ่ลดลงได้ 1-2 เซนติเมตร ทั้งนี้เราต้องคำนึงด้วยว่าโรคหอบหืดหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องจะทำให้ผู้ป่วยเด็กเจริญเติบโตไม่เต็มที่ได้เช่นกัน สรุปว่ายาพ่นสเตียรอยด์นี้ยังถือเป็นยาสำคัญสำหรับการรักษาโรคหอบหืด
     - ยาอื่น ๆ ที่มีการนำมาใช้เพื่อป้องกันไม่ให้มีอาการหอบหืด เช่น โครโมลิน (cromolynsodium), แอคโคแลท (accolate), ซิงกูแลร์ (singulair) ยาเหล่านี้ได้ผลอย่างมีประสิทธิภาพในผู้ป่วยที่มีอาการไม่มาก ส่วนใหญ่ใช้เสริมกับยาพ่นสเตียรอยด์ จำเป็นต้องใช้ยานี้ทุกวันอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกับยาพ่นสเตียรอยด์

2. กลุ่มยารักษาอาการหอบ ใช้เฉพาะเวลาที่มีอาการ ยานี้สำคัญมากยากฉุกเฉิน เพราะมีฤทธิ์ขยายหลอดลมเปิดทางเดินหายใจให้โล่ง บางท่านมีอาการทุก ๆ วันก็อาจจะต้องใช้ยานี้ทุกวันนอกจากนี้ท่านที่มีอาการหอบเวลาออกกำลังกาย สามารถใช้ยาพ่นชนิดขยายหลอดลมนี้ครึ่งชั่วโมงก่อนออกกำลังกาย จะทำให้ทนต่อการออกกำลังกายได้ดีขึ้น ตัวอย่างในกลุ่มนี้ เช่น เวนโทลิน (Ventolin), บริคานีล (Bricanyl), บีโรเทค (Berotec), บีโรดูอัล (Berodual), เมพติน (Meptin) เป็นต้น ผลข้างเคียงสำคัญคือมีอาการใจสั่น, มือสั่น, ปวดหัว, นอนไม่หลับ ทั้งนี้แล้วแต่ขนาดและความเคยชินกับยา
ในบางกรณีแพทย์อาจให้ยากลุ่มนี้ในรูปยารับประทาน แต่ให้ใช้ทุกวันเป็นประจำ เพราะมีอาการมาก หากเป็นสม่ำเสมอในรายที่มีอาการมากหรือไม่สะดวกที่จะใช้ยาพ่น ท่านควรใช้ยานี้เป็นประจำตามที่แพทย์สั่ง

3. ยากลุ่มแซนธีน เช่น ธีโอฟัยลิน (Theophylline) ชื่อการค้า เช่น ธีโอเดอร์ (Theodur) ยากลุ่มนี้เป็นยาเก่าแก่ที่ยังนิยมใช้อยู่เพราะใช้รับประทานจึงง่ายต่อผู้ป่วยบางรายและมีราคาถูก, มีผลขยายหลอดลม และต้านการอักเสบอย่างอ่อน, แต่ผลข้างเคียงก็มีมาก เช่น ใจสั่น, คลื่นใส้อาเจียน และมีผลเกี่ยวเนื่องกับยาอื่น ๆ อีกหลายชนิด ยานี้ต้องใช้ทุกวันเพื่อรักษาระดับยาในร่างกายให้สม่ำเสมอและควรมีการตรวจหาระดับยาในเลือดเป็นระยะ ๆ
โดยสรุปคือ ท่านผู้ป่วยต้องพยายามศึกษาให้เข้าใจว่ายาที่ท่านได้รับใช้เมื่อใด, บ่อยแค่ใด, นานเท่าไหร่ จึงจะทำให้ใช้ยาได้ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ หากมีคำถามหรือข้อสงสัย โปรดซักถามอย่าได้ลังเลใจ ผลดีก็จะเกิดขึ้นกับตัวทานเอง ทำให้การรักษาโรคได้ผลดี

เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง








Facebook