Get Adobe Flash player

เมนู

ผลงานวิชาการ

Data Center

สำหรับเจ้าหน้าที่

ล็อกอิน

คุณอยู่ที่นี่

หน้าแรก

การตรวจสมรรถภาพการได้ยิน (Audiometry หรือ Audiometric test)

     การตรวจสมรรถภาพการได้ยิน (Audiometry หรือ Audiometric test) เป็นการตรวจคัดกรองเพื่อให้ทราบว่าพนักงานมีสมรรถภาพการได้ยินของหูแต่ละข้างเป็นอย่างไร เนื่องจากพนักงานที่ทำงานสัมผัสเสียงดังในโรงงานอุตสาหกรรมมาเป็นเวลานานนั้น มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคประสาทหูเสื่อมจากเสียงดัง (Noise-induced hearing loss หรือ NIHL) ได้ หากปล่อยให้พนักงานได้รับสัมผัสเสียงดังไปเป็นระยะเวลานานหลายปีโดยไม่ได้ทำการแก้ไข จะทำให้พนักงานเกิดภาวะหูตึงหรือถึงกับหูหนวกได้ในที่สุด นอกจากนี้ภาวะเสื่อมลงของการได้ยิน ยังอาจเกิดจากโรคหูอีกหลายสาเหตุนอกเหนือจากการทำงานได้ด้วย เช่น โรคหูน้ำหนวก (Otitis media) ภาวะขี้หูอุดตัน (Impacted earwax) ภาวะการทำงานของท่อยูสเตเชียนผิดปกติ (Eustachian tube dysfunction) โรควิงเวียนศีรษะมีเนียร์ (Miniere’s disease) เนื้องอกของเส้นประสาทการได้ยิน (Acoustic neuroma) การได้ยินเสื่อมจากยา (Ototoxic medication) การได้ยินเสื่อมตามอายุ (Presbycusis) การได้รับเสียงดังจากสิ่งแวดล้อมนอกงาน (Environmental loud noise) เป็นต้น
     การตรวจสมรรถภาพการได้ยินในทางอาชีวอนามัยนั้น หากจะกล่าวไปจัดได้ว่าเป็นเพียงการตรวจคัดกรองในเบื้องต้น (Screening audiometry) ซึ่งมีข้อดีคือเป็นการตรวจที่ทำได้ง่าย ใช้เวลาไม่นาน เหมาะกับการใช้ตรวจคัดกรองพนักงานในโรงงานอุตสาหกรรมครั้งละจำนวนมาก และหากมีเครื่องมือที่มีคุณภาพและการจัดสิ่งแวดล้อมที่ดีเพียงพอแล้ว สามารถเข้าไปทำการตรวจนอกสถานที่ เช่น ไปทำการตรวจภายในพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรมได้ แต่การตรวจนอกสถานที่นี้ต้องจัดทำให้มีคุณภาพดีพอสมควรด้วย ผลตรวจที่ได้จึงจะน่าเชื่อถือ
     เมื่อพบผลที่ผิดปกติจากการตรวจแบบคัดกรองแล้ว ส่วนใหญ่แพทย์อาชีวเวชศาสตร์จะต้องส่งผู้ที่มีความผิดปกติไปตรวจการได้ยินแบบยืนยัน (Confirmatory audiometry) กับนักโสตสัมผัสวิทยา (Audiologist) และตรวจร่างกายหาสาเหตุโรค รวมถึงทำการรักษา กับโสต ศอ นาสิกแพทย์ (แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้าน หู คอ จมูก) ที่โรงพยาบาลอีกต่อหนึ่ง การตรวจการได้ยินแบบยืนยันจะใช้เวลาตรวจมากกว่าการตรวจแบบคัดกรอง มีขั้นตอนมากกว่า ราคาค่าตรวจสูงกว่า แต่ผลตรวจที่ได้ก็มีความน่าเชื่อถือสูงกว่าด้วย

ภาพที่ 1 การตรวจการได้ยินในห้องตรวจการได้ยิน

     การตรวจสมรรถภาพการได้ยินแบบคัดกรองที่นิยมใช้ในวงการอาชีวอนามัยนั้น ส่วนใหญ่จะตรวจเฉพาะการนำเสียงทางอากาศ (Air conduction) โดยใช้เสียงบริสุทธิ์ (Pure tone) ปล่อยเข้าไปผ่านครอบหูฟัง โดยไม่มีการลวงเสียง (Masking) แล้วดูการตอบสนองของผู้เข้ารับการตรวจว่า ได้ยินเสียงที่ปล่อยออกมาหรือไม่ เสียงที่ปล่อยออกจะมีความถี่ต่างๆ เช่น 500, 1,000, 2,000, 3,000, 4,000, 6,000, และ 8,000 เฮิรตซ์ (Hertz) โดยจะตรวจแยกหูทีละข้างทั้งซ้ายและขวา การตรวจที่มีมาตรฐานนั้นจะต้องทำการตรวจในห้องเงียบ ที่มีเสียงรบกวนต่ำ ถ้าให้ดีที่สุดควรจะเป็นห้องเก็บเสียง หรือตู้ตรวจการได้ยินซึ่งเก็บเสียงได้ (ดังในภาพที่ 1) การบันทึกผลต้องแยกบันทึกตามความถี่แต่ละความถี่อย่างชัดเจน การเก็บบันทึกผลที่ดีต้องเก็บเอาไว้อย่างต่อเนื่อง เพื่อใช้ดูผลเปรียบเทียบกันหลายๆ ปีได้

     ส่วนการตรวจสมรรถภาพการได้ยินแบบยืนยันซึ่งทำที่โรงพยาบาลนั้น จะมีขั้นตอนการตรวจที่มากกว่าการตรวจแบบคัดกรอง ขอกล่าวคร่าวๆ คือ การตรวจจะต้องทำในห้องเก็บเสียงที่เงียบสนิท การตรวจจะตรวจทั้งการนำเสียงผ่านทางอากาศ (Air conduction) และการนำเสียงผ่านทางกระดูก (Bone conduction) ใช้เสียงบริสุทธิ์ในการตรวจ (Pure tone) โดยมักจะมีการลวงเสียง (Masking) เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือของผลตรวจด้วย การตรวจจะตรวจแยกแต่ละความถี่ ของหูทีละข้าง และบันทึกผลแยกเป็นความถี่แต่ละความถี่เช่นกัน ในบางครั้งเพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคที่สงสัยเพิ่มขึ้น โสต ศอ นาสิกแพทย์ จะส่งทำการตรวจอื่นๆ เพิ่มเติมไปด้วย เช่น การทดสอบรินเน (Rinne test) การทดสอบเวเบอร์ (Weber test) และการทดสอบการทำงานของหูชั้นกลาง (Tympanometry) เป็นต้น

วัตถุประสงค์ของการตรวจสมรรถภาพการได้ยินทางอาชีวอนามัย
การตรวจคัดกรองสมรรถภาพการได้ยินทางอาชีวอนามัยนั้นทำได้ในหลายโอกาส โดยมีวัตถุประสงค์ในแต่ละโอกาสแตกต่างกันไป ดังนี้

1. การตรวจการได้ยินก่อนเข้าทำงาน
การตรวจสมรรถภาพการได้ยินก่อนจ้างงาน (Pre-employment examination) หรือก่อนเข้าประจำตำแหน่งงาน (Pre-placement examination) นั้น ทำเพื่อวัตถุประสงค์ที่สำคัญ 2 – 3 ประการ ประการแรกคือเพื่อประเมินดูว่า สมรรถภาพการได้ยินของผู้สมัครงานนั้นมีความเหมาะสมที่จะทำงานในตำแหน่งที่พิจารณาหรือไม่ เนื่องจากงานบางตำแหน่งจำเป็นที่จะต้องมีความสามารถในการรับฟังเสียงได้ดีเพียงพอ จึงจะสามารถทำงานได้อย่างปลอดภัย เช่น การทำงานขับรถ ขับเรือ การทำงานในที่สูง บางตำแหน่งจำเป็นต้องมีความสามารถในการฟังเสียง เพื่อให้สามารถทำงานออกมาได้อย่างมีคุณภาพ เช่น นักดนตรี ช่างเครื่องยนต์ เป็นต้น การตรวจการได้ยินก่อนเข้าทำงานนี้ จึงเป็นการประเมินความพร้อมของการทำงานในตำแหน่งที่พิจารณา ว่าจะสามารถทำงานได้อย่างปลอดภัยหรือไม่ หรือต้องปรับปรุงแก้ไขอย่างไรจึงจะช่วยให้ผู้สมัครงานนั้นทำงานได้ วัตถุประสงค์อย่างที่สองคือเพื่อที่บริษัทผู้จ้างงาน จะได้มีข้อมูลพื้นฐานเก็บไว้ ว่าผู้มาสมัครงานนั้น ก่อนที่จะเข้ามาทำงานในบริษัทของตน มีสมรรถภาพการได้ยินพื้นฐาน (Baseline) เป็นอย่างไร เมื่อเข้ามาทำงานไปนานๆ แล้ว การได้ยินยังคงดีเท่าเดิมหรือลดลงหรือไม่ การตรวจเพื่อเก็บไว้เป็นข้อมูลพื้นฐานนี้ จัดว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกับพนักงานในตำแหน่งที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคประสาทหูเสื่อม คือพนักงานที่ต้องทำงานในสภาพแวดล้อมที่มีเสียงดัง ข้อมูลที่ตรวจไว้เป็นพื้นฐานก่อนเข้าทำงานนี้ จะเป็นข้อมูลพื้นฐานให้กับบริษัทผู้จ้างงานเพื่อใช้แยกแยะว่า การเกิดภาวะหูเสื่อมของพนักงานนั้นเกิดขึ้นหลังจากที่เข้ามาทำงานหรือมีเกิดขึ้นอยู่ก่อนแล้ว วัตถุประสงค์ประการที่สามคือใช้เพื่อคัดกรองโรค กรณีพบความผิดปกติในการได้ยินเนื่องจากโรคที่รักษาได้ แพทย์อาชีวเวชศาสตร์จะได้ส่งตัวไปพบกับ โสต ศอ นาสิกแพทย์ เพื่อทำการรักษาต่อไป

2. การตรวจการได้ยินตามระยะ
การตรวจตามระยะ (Periodic examination) เช่น ปีละครั้ง มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินสมรรถภาพการได้ยินของพนักงานว่ามีการได้ยินถดถอยลงหรือไม่ ซึ่งมีประโยชน์ทั้งในกลุ่มพนักงานที่มีความเสี่ยงต่อโรคประสาทหูเสื่อมเนื่องจากทำงานอยู่ในที่มีเสียงดัง และในพนักงานสูงอายุ ซึ่งอาจเกิดอาการหูเสื่อมตามอายุได้ หากพบว่าสมรรถภาพการได้ยินที่ตรวจตามระยะนี้ลดลงกว่าผลการตรวจในปีก่อน แพทย์จะได้ทำการหาสาเหตุและตรวจรักษาในกรณีที่เป็นโรคที่รักษาได้ การตรวจสมรรถภาพการได้ยินตามระยะยังใช้ประเมินผลการจัดทำโครงการอนุรักษ์การได้ยิน (Hearing conservation program หรือ HCP) ในโรงงานอุตสาหกรรมที่มีเสียงดังได้อีกด้วย กล่าวคือหากการจัดโครงการอนุรักษ์การได้ยินนั้นเป็นผลสำเร็จแล้ว สมรรถภาพการได้ยินของพนักงานส่วนใหญ่จะต้องไม่ลดลง แต่หากการจัดทำโครงการอนุรักษ์การได้ยินนั้นยังไม่เป็นผลสำเร็จ การได้ยินของพนักงานส่วนใหญ่จะลดลงกว่าผลการตรวจในปีก่อนได้

3. การตรวจการได้ยินเพื่อดูความพร้อมในการทำงาน
ดังกล่าวไปแล้วว่าในการทำงานบางอย่างนั้นพนักงานจำเป็นต้องมีความสามารถในการได้ยินที่ดีเพียงพอในระดับหนึ่ง จึงจะสามารถทำงานได้อย่างปลอดภัย เช่น การขับรถ อย่างน้อยพนักงานควรมีการได้ยินดีพอที่จะพูดคุยสื่อสารกับผู้อื่นได้ ได้ยินเสียงเตือนอันตรายอย่างเสียงแตรจากรถคันอื่นในขณะที่ขับรถ การตรวจเพื่อประเมินความพร้อมในการทำงาน (Fitness to work examination) นี้ จึงมีประโยชน์เพื่อใช้ประเมินในพนักงานที่จะเปลี่ยนงานไปทำหน้าที่ที่ต้องใช้ความสามารถในการได้ยิน เพื่อดูว่าพนักงานนั้นมีความพร้อมต่อการไปทำงานในหน้าที่ใหม่ได้อย่างปลอดภัยหรือไม่ หรือใช้ตรวจประเมินก่อนกลับเข้าทำงาน (Return to work examination) ในกรณีที่พนักงานเจ็บป่วยหรือประสบอันตราย จนมีผลต่อการได้ยิน เช่น ป่วยเป็นโรคสมองอักเสบ หรือประสบอันตรายศีรษะกระแทกอย่างรุนแรงจนสมองบาดเจ็บ การตรวจการได้ยินก่อนกลับเข้าทำงาน จะช่วยประเมินความพร้อมว่าพนักงานจะยังสามารถทำงานในหน้าที่เดิมอย่างปลอดภัยต่อไปได้หรือไม่

ภาพที่ 2 ลักษณะของกราฟผลตรวจการได้ยินที่มักพบได้ในผู้ที่เริ่มมีภาวะประสาทหูเสื่อมจากเสียงดัง

ลักษณะของผลการได้ยินที่ผิดปกติ
     ผลการได้ยินที่ผิดปกติอาจจะแสดงเป็นกราฟหรือเป็นค่าตัวเลขแยกตามความถี่ก็ได้ หน่วยของเสียงในแต่ละความถี่ที่บันทึกจะเป็นเดซิเบล (Decibel หรือ dB) โดยหากแสดงผลเป็นกราฟ ผลตรวจของหูซ้ายจะแสดงด้วยเครื่องหมายกากบาทสีน้ำเงิน ในขณะที่ผลตรวจของหูขวาจะแสดงด้วยเครื่องหมายวงกลมสีแดง การอ่านผลปกติในเบื้องต้นทุกความถี่ที่ตรวจควรจะได้ยินในความดังไม่เกิน 25 เดซิเบล กรณีที่มีการได้ยินผิดปกติเนื่องจากภาวะประสาทหูเสื่อมจากเสียงดังนั้น จะมีลักษณะเฉพาะของกราฟที่พบได้ในช่วงแรกของการเกิดโรค คือจะมีการลดลงของเสียงในช่วงความถี่สูงก่อน โดยรูปกราฟมักจะลดลงเป็นรอยบากที่ตำแหน่งความถี่ 4, 000 เฮิร์ซ และการลดลงของการได้ยินหูทั้งสองข้างมักจะใกล้เคียงกัน (ดังในภาพที่ 2) อย่างไรก็ตามกราฟการได้ยินของภาวะประสาทหูเสื่อมจากเสียงดังอาจพบเป็นลักษณะอย่างอื่นก็ได้ หรือภาวะการได้ยินผิดปกติจากสาเหตุอื่นๆ ก็อาจทำให้เกิดมีลักษณะกราฟที่คล้ายคลึงกับลักษณะดังกล่าวนี้ก็เป็นไปได้เช่นกัน
     สรุปก็คือผลการตรวจสมรรถภาพการได้ยินนั้น เป็นเพียงข้อมูลที่ทำให้ทราบว่าการได้ยินของหูแต่ละข้างของพนักงานเป็นอย่างไร ปกติหรือผิดปกติ ถ้าผิดปกติมีรูปแบบการผิดปกติเป็นอย่างไร แต่จะไม่สามารถใช้วินิจฉัยชี้ชัดได้แน่นอนว่า การได้ยินผิดปกติที่พบนั้นเกิดจากสาเหตุใด การจะวินิจฉัยได้ว่าการได้ยินที่ผิดปกตินั้นเกิดจากสาเหตุใดต้องวินิจฉัยโดยแพทย์เท่านั้น ซึ่งโดยทั่วไปแพทย์จะต้องซักถามประวัติ ตรวจร่างกาย ส่งตรวจทดสอบ และดูข้อมูลอื่นๆ เพิ่มเติม จึงจะสามารถวินิจฉัยหาสาเหตุของโรคได้

เมื่อพบผลการตรวจการได้ยินที่ผิดปกติจะต้องทำอย่างไร?
     คำถามหนึ่งในวงการอาชีวอนามัยที่มักเป็นที่สงสัยกันมากก็คือ เมื่อทางโรงงานส่งพนักงานมาตรวจการได้ยินแล้วพบผลผิดปกติ จะต้องทำอย่างไรต่อไปบ้าง เนื่องจากที่มาของผลการได้ยินที่ผิดปกตินั้นมีได้จากมากมายหลายสาเหตุ จึงไม่สามารถนำมาแจกแจงรายละเอียดทั้งหมดได้ในที่นี้ จะขอกล่าวเป็นแนวทางอย่างกว้างๆ โดยยึดตามสถานะของผู้พิจารณาผลการตรวจ และวัตถุประสงค์ในการตรวจการได้ยิน ดังนี้
     ในฝ่ายของโรงพยาบาลหรือผู้ให้บริการสุขภาพที่เข้าไปทำการตรวจนั้น หากแพทย์อาชีวเวชศาสตร์พิจารณาผลการตรวจการได้ยินแล้วพบว่ามีความผิดปกติ ร่วมกับข้อมูลที่ได้จากการซักประวัติ การตรวจร่างกาย ซึ่งควรรวมถึงการส่องตรวจช่องหูด้วยเครื่องส่องตรวจ (Otoscope) แล้วพบว่า มีลักษณะน่าสงสัยจะเป็นโรคหูชนิดต่างๆ เช่น หูน้ำหนวก ขี้หูอุดตัน ภาวะการทำงานของท่อยูสเตเชียนผิดปกติ แก้วหูฉีกขาดจากการบาดเจ็บ รวมถึงโรคประสาทหูเสื่อมจากการได้รับเสียงดังที่รุนแรง ควรจะทำการส่งต่อให้ โสต ศอ นาสิก แพทย์ ทำการตรวจวินิจฉัยยืนยัน และรักษาผู้ป่วยถ้าโรคนั้นเป็นโรคที่รักษาได้ การที่ส่งตัวผู้ป่วยให้ได้พบกับ โสต ศอ นาสิก แพทย์นี้ ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับคำแนะนำในการปฏิบัติตัวที่เหมาะสม ได้รับการรักษา รวมถึงได้รับการพิจารณาใส่เครื่องช่วยฟังในกรณีที่สมรรถภาพการได้ยินลดลงอย่างมาก และแพทย์เห็นว่าเครื่องช่วยฟังจะมีประโยชน์กับผู้ป่วย
     สำหรับแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ซึ่งมีหน้าที่ประเมินความพร้อมในการทำงานของพนักงานที่มาตรวจนั้น หากพบความผิดปกติที่อาจทำให้เกิดอันตรายต่อตัวพนักงานเองหรือผู้ร่วมงาน อันเกิดมาจากสมรรถภาพการได้ยินที่ผิดปกติไป ควรจะทำการแจ้งความเสี่ยงที่พบนี้กับพนักงานที่มาเข้ารับการตรวจ และในกรณีที่เห็นว่าอาจเกิดอันตรายได้อย่างยิ่งยวด เช่น พบว่าพนักงานขับรถโดยสารของบริษัทแห่งหนึ่งหูตึงอย่างรุนแรงทั้ง 2 ข้าง ควรให้ข้อมูลกับทางบริษัทในการช่วยเหลือปรับปรุงให้เกิดความปลอดภัยในการทำงานมากขึ้น และช่วยให้พนักงานได้ทำงานที่เหมาะสมกับสมรรถภาพร่างกายของตนเองจะเป็นการดีที่สุด
     สำหรับทางฝ่ายบริษัทที่ส่งพนักงานมาตรวจการได้ยิน หากพบว่าพนักงานมีการได้ยินที่ผิดปกติ ให้พิจารณาการดำเนินการจากวัตถุประสงค์ของการส่งตัวพนักงานเข้าตรวจการได้ยินเป็นหลัก ดังนี้

  • กรณีตรวจก่อนจ้างงาน (Pre-employment examination) หรือตรวจก่อนเข้าประจำตำแหน่งงาน (Pre-placement examination) ซึ่งจะเป็นข้อมูลการตรวจในครั้งแรกก่อนที่พนักงานจะเข้ามาทำงาน ให้เก็บข้อมูลผลการตรวจครั้งแรกนี้ไว้เป็นข้อมูลพื้นฐาน (Baseline) เพื่อใช้ประโยชน์ในการเปรียบเทียบกับผลการตรวจในครั้งต่อๆ ไป ส่วนผลตรวจการได้ยินที่ผิดปกติจะมีกระทบผลต่อการทำงานหรือไม่นั้น แพทย์อาชีวเวชศาสตร์จะพิจารณาดูจากตำแหน่งงานที่พนักงานจะเข้าไปทำงานเป็นสำคัญ หากสามารถเข้าไปทำงานในตำแหน่งที่พิจารณาได้โดยไม่เกิดอันตราย ก็ถือว่าพนักงานมีความพร้อมในการทำงาน (Fit to work) พนักงานก็สามารถทำงานได้ แม้ว่าจะมีผลตรวจการได้ยินผิดปกติไปบ้างเล็กน้อยก็ตาม
  • กรณีตรวจตามระยะ (Periodic examination) ควรนำผลการตรวจเทียบกับผลการตรวจในปีก่อนๆ หากพบว่าพนักงานมีการได้ยินผิดปกติ แต่ไม่ได้ลดลงไปกว่าปีก่อน ส่วนใหญ่จะถือว่าไม่เป็นอันตราย แต่ถ้าผลตรวจการได้ยินลดลง ต้องพิจารณาดูว่าเกิดจากการได้รับเสียงดังในการทำงานหรือไม่ ถ้าเกิดจากการได้รับเสียงดังในการทำงาน ควรทำการลดเสียงที่แหล่งกำเนิดเสียงลงให้ได้มากที่สุด จะเป็นการแก้ไขที่ต้นเหตุแห่งปัญหาอย่างแท้จริง เช่น ทำที่ครอบเครื่องจักร ทำการบำรุงรักษาเครื่องจักรที่ชิ้นส่วนฝืดหรือหลวม การซื้อเครื่องจักรใหม่ที่มีเสียงดังน้อยกว่าควรได้รับการพิจารณาด้วย หากเห็นผลชัดเจนว่าจะช่วยป้องกันพนักงานไม่ให้มีการได้ยินที่ลดลงได้ การจัดทำโครงการอนุรักษ์การได้ยิน การให้ความรู้ในการดูแลสุขภาพหูแก่พนักงาน และการให้พนักงานใช้อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล เช่น ที่อุดหู ที่ครอบหู จัดเป็นปัจจัยที่ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคประสาทหูเสื่อมจากการได้รับเสียงดังในการทำงาน แต่หากว่าผลตรวจการได้ยินที่ผิดปกตินี้ เกิดจากสาเหตุอื่นๆ ที่ไม่ใช่จากการทำงาน ก็ควรส่งตัวพนักงานให้ โสต ศอ นาสิกแพทย์ ทำการรักษาไปตามสาเหตุของโรคต่อไป
  • กรณีตรวจความพร้อมในการทำงาน (Fitness to work examination) และตรวจก่อนกลับเข้าทำงาน (Return to work examination) ใช้การพิจารณาเช่นเดียวกับการตรวจก่อนเข้างาน ผลตรวจการได้ยินที่ผิดปกตินั้น ต้องนำมาเปรียบเทียบกับตำแหน่งงานที่จะไปทำ ว่าจะทำให้เกิดความเสี่ยงอันตรายขึ้นหรือไม่ หากไม่ทำให้เกิดความเสี่ยงมากเกินไปก็สามารถให้พนักงานทำงานได้ แม้จะมีผลตรวจการได้ยินผิดปกติไปบ้างก็ตาม

เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง








Facebook