Get Adobe Flash player

เมนู

ผลงานวิชาการ

Data Center

สำหรับเจ้าหน้าที่

ล็อกอิน

คุณอยู่ที่นี่

หน้าแรก

     โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หมายถึงโรคที่เกี่ยวกับระบบหายใจ 2 โรคก็คือ โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง และโรคถุงลมปอดโป่งพอง โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง เป็นลักษณะอาการที่มีการเพิ่มขึ้นของต่อมหลั่งเมือกใต้ชั้นเยื่อบุผิวของหลอดลม จนทำให้ผนังหลอดลมหนาตัวขึ้นและผลิตเสมหะมากขึ้น มีอาการไอเรื้อรัง มีเสมหะมาก
ส่วนโรคถุงลมโป่งพอง มีการเปลี่ยนแปลงที่บริเวณถุงลมส่วนปลายสุดของหลอดลม จะมีการขยายตัวโป่งพอง และมีการทำลายของผนังถุงลมทำให้การยืดหยุ่นเสียไป ส่งผลให้เกิดการแลกเปลี่ยนแก๊สในปอดลดลง ผู้ป่วยจะมีอาการหายใจออกลำบากและเหนื่อยง่าย
     สาเหตุของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังนั้น ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่ามีปัจจัยเสี่ยงหลายประการด้วยกัน ได้แก่ การสูบบุหรี่ มลพิษในอากาศ เพศชาย การสูดควันบุหรี่มือสอง กรรมพันธุ์ การติดเชื้อของทางเดินหายใจ บุคคลที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น จึงเป็นที่มาของอาชีพที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง มาร่วมไขกันว่ามีอาชีพใดบ้าง?

     มีการศึกษาว่า อาชีพที่ทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรดีเซล เพิ่มความเสี่ยงสาเหตุการเสียชีวิตจากโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังถึงร้อยละ 2.5 ซึ่งมากกว่าอาชีพอื่น นอกจากนี้ รายงานหลายฉบับยังพบว่า ควัน แก๊ส และฝุ่น อาจก่อให้เกิดโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังได้ แม้ว่าผู้นั้นจะไม่ได้สูบบุหรี่ กลไกการเกิดโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังมีอยู่ 2 กลไก ได้แก่ 1) ออกฤทธิ์เสริมบุหรี่เพื่อทำลายปอด 2) ออกฤทธิ์ทำลายปอดโดยตรง
     ส่วนอาชีพที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ได้แก่ อาชีพเหมืองถ่านหิน โรงงานทอฝ้าย โรงงานทำซิลิกา (ซึ่งพบว่ามีผู้เสียชีวิตจากซิลิการ้อยละ 5 และร้อยละ 59 เสียชีวิตจากซิลิการ่วมกับการสูบบุหรี่ อีกร้อยละ 34 เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่เพียงอย่างเดียว) และโรงสีข้าว
จากโรงสีข้าวอาจก่อให้เกิดอาการหอบหืดได้ด้วยหลายสาเหตุ เช่น เชื้อโรคที่แฝงอยู่ ยาฆ่าแมลง เชื้อรา โปรตีนในปัสสาวะของหนูที่ปนเปื้อนมาหรือเป็นสารภูมิแพ้ในเมล็ดธัญพืช
นอกจากนี้แล้ว ยังมีอาชีพอื่นๆ อีกที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรงโม่แป้ง, โรงหลอมโลหะ, อาชีพที่สัมผัสสารไอโซไซยาไนด์ ยางลาเท็กซ์ สารแพลทินัม สารเวเนเดียม หรือสารโพลีไซ คลิค อโรมาติค ไฮโดรคาร์บอน, อาชีพที่สัมผัสสารแคดเมียม ซึ่งก่อให้เกิดโรคถุงลมปอดโป่งพองได้, อาชีพในโรงเลื่อยไม้, งานที่เกี่ยวกับสีย้อมต่าง ๆ, ช่างก่อสร้างหรือผสมปูนซีเมนต์, ชาวนา รวมไปถึงพนักงานดับเพลิง
วิธีการป้องกันที่ถูกต้องเมื่อเริ่มปฏิบัติงานคือ สวมเครื่องป้องกันตนเอง เช่น หน้ากาก หรือเครื่องช่วยหายใจ ก่อนเข้าทำงาน

สำหรับการป้องกันการเกิดโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง สามารถแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน ดังนี้

1) การป้องกันขั้นปฐมภูมิป้องกันไม่ให้เกิดโรค โดยการไม่สูบบุหรี่ เปลี่ยนงาน และสวมเครื่องป้องกันตนเองก่อนเข้าทำงาน
2) การป้องกันขั้นทุติยภูมิทำได้โดยให้การวินิจฉัยโรคแต่เนิ่น ๆ เพื่อรีบให้การรักษาก่อนที่จะมีอาการกำเริบไปมากแล้ว ทั้งนี้อาจทำแบบสำรวจสอบถามเรื่องอาการหอบเหนื่อยง่ายทั้งก่อนรับเข้าทำงานและคอยสอบถามเป็นระยะ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หรืออาจทำการตรวจสมรรถภาพปอดเป็นระยะ เพื่อสามารถวินิจฉัยผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังได้โดยเร็ว
3) การป้องกันขั้นตติยภูมิ ทำได้โดยชะลอการเสื่อมของปอดจากตัวโรค มีรายงานว่าผู้ป่วยที่ทำอาชีพเสี่ยงจะเกิดโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังได้ถึง 1.4 เท่าของคนปกติ แต่การสูบบุหรี่จะเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้ 2.8 เท่า แต่ถ้าทำอาชีพเสี่ยงร่วมกับการสูบบุหรี่แล้วย่อมจะเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้ถึง 6.2 เท่า

อันตรายจากอาชีพที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ แต่เหนือสิ่งสำคัญใด ๆ ทั้งหมดนั้นคือ การป้องกันตนเองก่อนเริ่มต้นปฏิบัติงาน

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ โดย ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน
พญ.รพีพร โรจน์แสงเรือง คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง








Facebook