Get Adobe Flash player

เมนู

ผลงานวิชาการ

Data Center

สำหรับเจ้าหน้าที่

ล็อกอิน

คุณอยู่ที่นี่

หน้าแรก » หน่วยงานภายใน » งานอาชีวอนามัย

ที่มาและความจำเป็นของแนวทางการตรวจสมรรถภาพปอด

    การตรวจสมรรถภาพปอด (Pulmonary Function Tests) เป็นการตรวจที่สำคัญและมีประโยชน์อย่างยิ่งในกระบวนการวินิจฉัย, ประเมินและติดตามผลการรักษาโรคระบบการหายใจเช่น โรคหืด, โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง, โรคปอดจากการทำงาน เป็นต้น นอกจากนี้การตรวจสมรรถภาพปอด ยังสามารถบ่งถึงการเสื่อมของการทำงานของปอดก่อนที่อาการแสดงทางคลินิกจะเริ่มปรากฏ เนื่องจากปอดเป็นอวัยวะที่มีความสามารถสำรองสูง อาการเหนื่อยจึงมักปรากฏหลังจากพยาธิสภาพในปอดเกิดขึ้นมากแล้ว โดยการตรวจสมรรถภาพปอดเป็นการตรวจที่ต้องอาศัยความร่วมมือของผู้ป่วยอย่างมากในการออกแรงเป่าอย่างเต็มที่ (maximal effort) การสูดลมและการเป่าต้องทำ ทางปากซึ่งไม่ใช่สิ่งที่คุ้นเคยสำหรับคนส่วนใหญ่ นอกจากนั้นจังหวะในการสูดลมและการเป่ามีความสำคัญมากเช่นเดียวกัน ผู้ควบคุมการตรวจ (technician) จึงจำเป็นต้องมีความเข้าใจ ความชำนาญ และประสบการณ์ ในการตรวจ ผลการตรวจจึงจะเป็นที่น่าเชื่อถือ

วิธีสไปโรเมตรีย์  (Spirometry)

    เป็นการตรวจวัดปริมาตรของอากาศที่หายใจเข้าและออกจากปอดโดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Spirometer วิธีการนี้เป็นการทดสอบสมรรถภาพปอดที่ใช้บ่อยที่สุด เพราะทำได้ง่าย ให้ข้อมูลที่มีประโยชน์เชื่อถือได้ดีและใช้เครื่องมือที่ไม่ซับซ้อน กราฟที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างปริมาตรและเวลาเรียกว่า Spirogram เนื่องจากการตรวจวัดที่ได้จากการทำ Spirometry มีหลายค่าด้วยกัน ซึ่งค่าที่ตรวจวัดได้และมีความสำคัญหลักๆต่อการประเมินสมรรถภาพของปอดนั้นมีรายละเอียดดังนี้

  1. FVC (Forced Vital Capacity ) คือปริมาตรของอากาศที่เป่าออกอย่างเร็ว แรง จนหมด หลังจากหายใจเข้าอย่างเต็มที่ ผลการประเมินค่า : ค่า FVC แสดงถึงปริมาตรอากาศที่จุอยู่ในปอดเกือบทั้งหมด ค่านี้จะลดต่ำลงเมื่อเนื้อเยื่อปอดมีการ เปลี่ยนแปลงเกิดเป็นพังผืด หรือปอดขยายตัวได้ไม่เต็มที่ ภาวะเช่นนี้เรียกว่า “ RESTRICTIVE ( มีการจำกัดการขยายตัวของปอด ) ” ค่าปกติ : มากกว่า 80 %
  2. FEV 1 (Forced Expiratory Volume in one second) คือปริมาตรของอากาศที่เป่าออกอย่างเร็วแรงในวินาทีที่ 1 ซึ่ง FEV 1 นี้เป็นข้อมูลที่ใช้บ่อยที่สุดในการตรวจสมรรถภาพปอด ผลการประเมินค่า : ค่า FEV 1 นี้ ใช้คำนวณร่วมกันกับ ค่า FVC เพื่อหาค่า FEV 1 / FVC % ค่าปกติ : มากกว่า 80 %
  3. FEV 1 / FVC % คือร้อยละของปริมาตรของอากาศที่เป่าออกมาได้ในวินาทีที่ 1 ต่อปริมาตรของอากาศที่เป่าออกมาได้มากที่สุดอย่างเร็วแรง ซึ่งเป็นข้อมูลที่ดีที่สุดที่แสดงถึงการอุดกั้นของหลอดลม ผลการประเมินค่า : ค่า FEV 1 / FVC % จะแสดงถึงความสามารถในการที่จะเป่าอากาศออกจากปอด ซึ่งขึ้นอยู่กับการออก แรงของผู้เข้ารับการทดสอบ และลักษณะของทางเดินหายใจ ถ้าทางเดินหายใจถูกอุดกั้น หรือมีความ ยืดหยุ่นตัวลดลง อากาศจะผ่านออกลำบาก ค่าดังกล่าวนี้จะลดน้อยลง ภาวะเช่นนี้เรียกว่า “ OBSTRUCTIVE ( มีการอุดกั้นหรือบีบของหลอดลม ) ” ค่าปกติ : มากกว่า 70 %

ความผิดปกติที่ตรวจพบ จะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม

  1. Obstructive หมายถึง มีการอุดกั้นของหลอดลม เช่น ในผู้ที่เป็นโรคหืด โรคถุงลมโป่งพองจากการสูบบุหรี่ โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง กลุ่มนี้จะตรวจพบค่า FEV1 / FVC ต่ำกว่า 70 % โดยค่า FVC จะปกติ
  2. Restrictive หมายถึง ความยืดหยุ่นของปอดลดลง ทำให้ความจุของปอดลดลง เช่น ผู้ที่มีโรคของเนื้อปอด ผู้ที่โครงสร้างกล้ามเนื้อ หรือกระดูกที่ช่วยในการหายใจผิดปกติ กลุ่มนี้จะมีค่า FVC เมื่อเทียบกับมาตรฐานต่ำกว่า 80 % แต่ค่า FEV1 / FVC จะมากกว่า 70 %
  3. Combine หมายถึง ผู้ที่ตรวจพบมีความผิดปกติทั้ง 2 อย่างร่วมกัน

ข้อบ่งชี้ในการทำ สไปโรเมตรีย์
    ข้อบ่งชี้ของการทำนั้นมีหลายประการ หนึ่งในประโยชน์นั้นซึ่งตรงกับวัตถุประสงค์ของการตรวจสุขภาพประจำปีคือ เพื่อติดตามผู้ป่วยที่มีอาชีพเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบบหายใจจากการประกอบอาชีพ

ข้อห้ามในการทำ สไปโรเมตรีย์

  • ไอเป็นเลือด
  • ภาวะลมรั่วในช่องเยื่อหุ้มปอดที่ยังไม่ได้รับการรักษา
  • ระบบหลอดเลือดหรือหัวใจทำ งานไม่คงที่ ได้แก่ ความดันโลหิตสูง ที่ยังไม่ได้รับการรักษาหรือควบคุมได้ไม่ดี, ความดันโลหิตตํ่า, recent myocardial infarction หรือ pulmonary embolism
  • เส้นเลือดแดงโป่ง (aneurysm)ในทรวงอก ,ท้องหรือสมอง
  • เพิ่งได้รับการผ่าตัดตา เช่น ผ่าตัดลอกต้อกระจก
  • เพิ่งได้รับการผ่าตัด ช่องอก หรือช่องท้อง
  • ติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เช่น วัณโรคปอดระยะติดต่อ
  • สตรีมีครรภ์ (ยกเว้นในบางรายที่จำ เป็น)
  • ผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยที่อาจมีผลต่อการทดสอบสไปโรเมตรีย์ เช่น คลื่นไส้หรือ อาเจียนมาก

ภาวะแทรกซ้อนจากทำ สไปโรเมตรีย์
แม้ว่าการตรวจสไปโรเมตรีย์เป็นการตรวจที่ค่อนข้างปลอดภัย แต่อาจพบภาวะแทรกซ้อนได้บ้างดังต่อไปนี้

  • ความดันในกระโหลกศีรษะเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจทำ ให้เกิดอาการปวดศีรษะ เป็นต้น
  • เวียนหัว, มึนงง และในบางรายอาจมีอาการหมดสติได้
  • อาการไอ
  • หลอดลมตีบ โดยเฉพาะใน ผู้ป่วยหืด หรือ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง ที่ยังควบคุมอาการไม่ได้ดี
  • เจ็บหน้าอก
  • ภาวะลมรั่วในช่องเยื่อหุ้มปอด
  • ขาดออกซิเจน จากการหยุดให้ชั่วคราวระหว่างการตรวจ
  • การติดเชื้อ

การดูแลรักษาสุขภาพของปอด

  1. รักษาร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายบริหารปอด พักผ่อนให้เพียงพอ ลด-เลิกสูบ บุหรี่
  2. เมื่อมีอาการหวัด/ไอเรื้อรัง/มีเสมหะมาก/หอบ/เหนื่อย /ภูมิแพ้… รีบตรวจรักษา หรือปรึกษาแพทย์แต่เนิ่น ๆ
  3. หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่แออัด มีฝุ่น ละออง ไอ ควัน ของมลพิษ หรือสารเคมี และการระบายอากาศไม่ดี
  4. ผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับฝุ่น สารเคมี หรือสารอันตรายควรตรวจสุขภาพเอกซเรย์ปอด ทดสอบสมรรถภาพปอดประจำปี เมื่อพบความ ผิดปกติต้องรีบรักษาและป้องกัน ต้องใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายจากฝุ่น หรือสารเคมีที่เหมาะสมถูกต้องอย่างสม่ำเสมอ ขณะ ทำงาน ควรมีความรู้ถึงอันตราย และวิธีการป้องกันสารอันตรายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
  5. มีการดำเนินงานเพื่อควบคุม ปิดกั้น หรือลดปริมาณฝุ่นและสารอันตรายทั้งที่แหล่งกำเนิด และที่กระจายในอากาศด้วย

เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง








Facebook