คุณอยู่ที่นี่
บทความความเข้าใจพื้นฐานต่อโรคโควิด ตอนที่ 19 โควิด เรื่องยุ่งๆของการบริหารงบบัตรทองในสถานการณ์โควิด
ลองคิดดูว่า หากคนไทยไม่มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยเฉพาะบัตรทอง หากเจ็บป่วยจะเข้าโรงพยาบาลต้องคิดถึงเรื่องเงินในกระเป๋าสตางค์ก่อนอื่นใด หรือเข้าไปรับการรักษาแล้วก็กังวลว่าจะมีเงินพอจ่ายค่ายาค่าหมอไหม หากเมืองไทยไม่มีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เมื่อโควิดระบาด คงย่ำแย่ไม่ต่างจากอเมริกา
แต่เมื่อคนไทยมีหลักประกันสุขภาพ ทั้งกลุ่มข้าราชการ ประกันสังคม และประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง ซึ่งเป็นสามสิทธิ์หลัก ทำให้คนไทยเมื่อเจ็บป่วยกล้าไปหาหมอ ไปโรงพยาบาลเร็วไม่ใช่ทนจนไม่ไหวแล้วค่อยไป โรงพยาบาลเองก็รักษาตามหลักวิชาการ พอไม่พอก็ได้ค่ารักากลับมาระดับหนึ่ง แม้จะแออัด เตียงแน่น คิวยาว แต่ก็เข้าถึงการรักษาได้ไม่ยาก ทำให้การคัดกรองโควิดง่ายขึ้น การควบคุมโรคมีประสิทธิภาพมากขึ้น
เมื่อโรงพยาบาลรักษาพยาบาลผู้ป่วยบัตรทอง ระบบการเรียกเก็บจากรัฐบาลก็จะเป็นไปตามกติกาคือ รัฐบาลโดย สปสช.จะจัดสรรงบให้ งบนั้นแบ่งเป็นสองก้อนใหญ่คืองบผู้ป่วยนอกและส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค และงบผู้ป่วยในที่นอนรักษาในโรงพยาบาล
งบผู้ป่วยนอกและงบส่งเสริมป้องกันโรคนั้น จัดมาให้ล่วงหน้าแบ่งเป็นปีละ 2 งวด ให้แก่ทุกโรงพยาบาลตามประชากรที่ถือบัตรทองในอำเภอนั้นๆ คนไข้จะมากจะน้อยก็มีงบเท่านั้น ซึ่งต้นปีเราจะรู้ว่าปีนี้เราจะได้งบมาเท่าไร หากคนไข้น้อยหรือเป็นโรคที่ใช้ยาน้อย เงินก็เหลือมาพัฒนาโรงพยาบาลมาก หากปีไหนคนไข้มากมีโรคเรื้อรังมากไข้เลือดออกระบาดโควิดระบาดใช้ยามากหรือยาแพง ก็อาจจะมีงบไม่พอในปีนั้น เพราะเป็นงบปลายปิด หากงบไม่พอ โรงพยาบาลหลวงก็เป็นหนี้เป็นสินแปะโป้งบริษัทยาไปก่อนได้
หากเป็นผู้ป่วยใน เมื่อผู้ป่วยกลับบ้าน โรงพยาบาลก็จะส่งค่าใช้จ่ายไปที่ สปสช. แต่ระบบการจ่ายนั้นจะจ่ายตามการวินิจฉัยโรคไม่ได้ตามที่เรียกไป เช่นผู้ป่วยปอดบวม จะรักษาไป 3,000 บาท หรือ 10,000 บาท ทาง สปสช.ก็จะจ่ายในอัตราผู้ป่วยปอดบวมทั่วไปที่ไม่มีโรคแทรกซ้อนจะได้เงินจัดสรรคืนมา 4,000 บาทเท่ากันทุกโรงพยาบาล เป็นต้น เพื่อเป็นการควบคุมต้นทุน ซึ่งเป็นระบบที่ดีที่ทั่วโลกก็ใช้การจ่ายแบบนี้
แต่จุดเด่นประการสำคัญของบัตรทองคือ เงินเดือนของข้าราชการของโรงพยาบาลและ รพ.สต.นั้นรวมอยู่ในงบบัตรทองด้วย ซึ่งเป็นแนวคิดที่ดีที่ออกแบบไว้ตั้งแต่เริ่มตั้ง สปสช. เพราะถือเป็นการใช้กลไกทางการเงินยับยั้งสมองไหลจากชนบทเข้าเมือง กล่าวคือ หากโรงพยาบาลในเมืองรับย้ายข้าราชการมามากเกินไป งบเงินเดือนก็จะสูงจนทำให้งบรายหัวที่ได้มามีเหลือไปซื้อยาหรือพัฒนาโรงพยาบาลมีน้อย ดังนั้นโรงพยาบาลต่างๆก็จะรับย้ายเท่าที่ตนจำเป็นต้องเพิ่มเจ้าหน้าที่
เมื่อ ครม.มีมติบรรจุลูกจ้างนักเรียนทุนทุกสาขาวิชาชีพของกระทรวงสาธารณสุข 45,684 ตำแหน่ง คำถามคือ จะเงินที่ไหนมาจ่ายเงินเดือนข้าราชการใหม่เหล่านี้ สำนักงบประมาณนั้นก็เลยให้ สปสช.เป็นคนจ่ายตามกติกาเดิมที่ปฏิบัติอยู่แล้ว จึงตัดงบบัตรทองรายหัวของ สปสช.ลงไป 2,400 ล้านเพื่อไปจ่ายเงินเดือน แต่ผมเองและเพื่อนร่วมวิชาชีพต่างก็คิดว่า รัฐบาลควรแบกรับภาระเงินเดือนก้อนนี้ไป ไม่ใช่มาตัดจากบัตรทอง งบบัตรทองนั้นมีตัวเลขคงที่ เค็กถูกตัดคืนไป 2,400 ล้านบาทนั้น เค้กที่เหลือย่อมลดลง ทำให้งบรายหัวที่โรงพยาบาลทั้งประเทศจะได้รับนั้นลดลง
แต่อย่างไรก็ตาม รมต.อนุทิน ชาญวีรกุล ได้กล่าวชัดเจนว่า “จะไม่มีการตัดงบบัตรทอง” ซึ่งถูกต้องแล้ว เท่ากับว่ารัฐบาลต้องหางบประมาณมาอย่างน้อย 2,400 ล้าน เพื่อเป็นเงินเดือนในปีงบ 2563 นี้แก่ข้าราชการใหม่ทั้ง 45,684 คน งบจำนวนนี้ควรเอามาจากงบกลาง แล้วงบกลางนี้เอาเงินเพิ่มมาจากไหน ผมคิดว่าคนไทยทั้งประเทศตอบได้ว่าควรเอามาจากตรงไหนครับ
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ 24 เมษายน 2563