คุณอยู่ที่นี่
ควบคุมโรคหืดในเด็กทำได้ไม่ยาก (Mother & Care)

หลายท่านอาจจะเคยได้ยินชื่อโรค หอบหืด และคิดว่าเป็นโรคเดียวกัน แต่ในทางการแพทย์จะเรียกสั้น ๆ ว่า โรคหืด ซึ่งแสดงถึงอาการ หายใจลำบาก โดยตัดคำว่า หอบ เพื่อไม่เกิดการสับสนกับโรคอื่น ๆ ที่มีอาการหอบแต่ไม่ได้เป็นหืดค่ะ สำหรับเด็กอ่อนที่อายุ 7-8 เดือนขึ้นไปเป็นโรคที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะช่วงอากาศเปลี่ยน เด็กจะหายใจลำบากมีเสียงครืดคราดในอก หายใจเป็นเสียงสูงคล้ายเสียงนกหวีด และเนื่องจากเด็กเล็กไม่สามารถบอกถึงอาการเหล่านี้ได้ ดังนั้นคุณแม่ต้องสังเกตและทำความรู้จักกับโรคหืดในเด็กดังต่อไปนี้ค่ะ
สาเหตุของโรคหืดในเด็กเล็ก
โรคนี้มีสาเหตุเกิดจากหลอดลมของเด็กมีความไวต่อสิ่งกระตุ้นจากภายนอกมากกว่าปกติหรือผิดปกติ ส่งผลทำให้เกิดการหดแคบลงของหลอดลม หรือมีเสมหะออกมามากเกินไปร่วมกัน เป็นผลให้การหายใจของเด็กลำบากยิ่งขึ้นโดยมีปัจจัยดังนี้
กรรมพันธุ์ ถ้าพ่อแม่หรือญาติเป็นโรคในกลุ่มภูมิแพ้หรือโรคหืด ลูกก็มีโอกาสที่จะเป็นโรคในกลุ่มภูมิแพ้หรือโรคหืดสูงด้วยเช่นกัน
สารก่อภูมิแพ้ในอากาศ เช่น ไรฝุ่นจากที่นอน พรมเฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้า เกสรดอกไม้ เชื้อรา ขนสัตว์ แมลงสาบ ควันรถ ฝุ่นละออง ควันบุหรี่ เป็นต้น
การติดเชื้อไวรัสทางเดินหายใจ เป็นสาเหตุสำคัญและพบได้บ่อย ๆ โดยเฉพาะเด็กอ่อน และอาจเกิดไวรัสลงปอดจึงทำให้เด็กที่มีกรรมพันธุ์อยู่แล้วมีโอกาสเป็นโรคหืดตามมา หลังการป้อนนมหรืออาหาร
สำหรับเด็กเล็กที่เป็นโรคหืด อาจเกิดการอักเสบของผนังทางเดินหายใจ ซึ่งระบบของร่างกายจะทำการรักษาตัวเองทำให้เนื้อเยื่อไม่เหมือนเดิมกลายเป็นพังผืด ทำให้หลอดลมมีความยืดหยุ่นไม่เหมือนหลอดลมปกติ และเปลี่ยนแปลงไปอย่างถาวร จึงต้องหมั่นสังเกตอาการของลูกดังนี้
อาการของโรคหืดในเด็กเล็ก
-
- มีอาการไอบ่อย เป็น ๆ หาย ๆ ซึ่งอาจมีไข้หรือน้ำมูกร่วมด้วย
- หายใจแรงและเร็ว ได้ยินเสียงวี๊ดโดยเฉพาะในช่วงของการหายใจออก หน้าอกบุ๋ม มีเสียงครืดครามในอก
- ระยะเวลาในการเป็นหวัดและไอจะนานกว่าเด็กปกติ ไอมากตอนกลางคืน และเช้ามืด
- ไม่ค่อยดูดนม ร้องเสียงเบา ผิวหนังมีสีซีดหรือเล็บสีคล้ำ
การป้องกันโรคหืดในเด็ก
-
- ควบคุมแหล่งกระตุ้นสารต้นกำเนิดของสารก่อภูมิแพ้ออกจากเด็ก เช่น ตัวไรฝุ่น โดยคลุมหมอน, ที่นอนให้มิดชิดด้วยวัสดุที่ป้องกันไรฝุ่นเล็ดลอดออกมา และซักเครื่องนอนด้วยน้ำอุ่น (มากกว่า 50 องศาเซลเซียส) อบให้แห้งทุก 1-2 สัปดาห์
- งดใช้พรมปูพื้นและเฟอร์นิเจอร์ที่มีขนปุกปุย
- หลีกเลี่ยงแหล่งสะสมของสารก่อภูมิแพ้ เช่น งดเลี้ยงสัตว์ปีก สัตว์ขน รวมทั้งของใช้ที่ทำจากขนสัตว์
- ระมัดระวังเรื่องมลพิษในอากาศ โดยไม่อนุญาตให้ใครมาสูบบุหรี่บริเวณรอบ ๆ บ้านที่เด็กอยู่
- เด็กบางคนจะมีอาการอึดอัดเมื่ออากาศขึ้นหรือเย็นลง ดังนั้นควรรักษาอุณหภูมิไม่ให้เย็นจนเกินไปและลดความชื้นของห้องให้ต่ำกว่าร้อยละ 50
- ดูแลเรื่องความสะอาดในบ้านให้ปราศจากแมลงสาบ โดยกำจัดเศษอาหารให้หมดและปิดถังขยะให้มิดชิดการรักษาโรคหืดในเด็กดังนี้
- การใช้ยา ซึ่งมียาหลายชนิดทั้งในรูปแบบของยาพ่น ยากิน ยาฉีดวัคซีนภูมิแพ้ ซึ่งคุณหมอจะให้การรักษาตามความรุนแรงของโรค
- พบคุณหมอและติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง
เมื่อลูกหายใจมีเสียงครืดคราดในอก ให้อุ้มลูกซะหน่อยอาการหอบก็จะค่อย ๆ ดีขึ้น และเมื่อลูกมีเสมหะมาก ๆ ต้องช่วยให้ลูกคายออกมาให้ได้ โดยช่วยลูกนอนคว่ำหน้า นวดหลังโดยกดแล้วไถเป็นแนวยาว และกดนวดหัวไหล่ จากนั้นใช้มือลูบเบา ๆ ตั้งแต่กลางหลังมาถึงส่วนบนโดยเน้นนวดจุดปอดที่อยู่ระหว่างไหล่ทั้งสองข้าง จะช่วยไล่เสมหะให้ลูกได้