Get Adobe Flash player

เมนู

ผลงานวิชาการ

Data Center

สำหรับเจ้าหน้าที่

ล็อกอิน

คุณอยู่ที่นี่

หน้าแรก

1. ทฤษฎีและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง
    แสงสว่าง เป็นพลังงานรูปหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ที่มีความยาวคลื่นประมาณ 380 -780 นาโมเมตร (1 นาโมเมตร = 10 - 9 เมตร) ซึ่งเป็นระยะความยาวคลื่นที่มองเห็นได้ (Visible Light) การเปลี่ยนแปลงของความยาวคลื่นของแสงสว่าง จะทำให้ตารู้สึกเห็นเป็นสีต่างๆ ตามความยาวคลื่นนั้น

ความยาวคลื่น (นาโมเมตร) สีที่มองเห็น
< 450 ม่วง
450 - 500 น้ำเงิน
500 - 570 500 - 570
570 - 590 เหลือง
> 610 แดง

    ความเข้มของแสงสว่างหรือปริมาณการส่องสว่าง (Illuminance) หมายถึง ปริมาณแสงสว่างที่ตกกระทบลงบนหนึ่งหน่วยพื้นที่ที่กำหนด
แหล่งกำเนิดแสง
    แหล่งกำเนิดของแสงสว่างมี 2 แหล่ง คือ
    1. แสงสว่างจากธรรมชาติ (Natural Lighting) แหล่งกำเนิดของแสงสว่างในธรรมชาติที่สำคัญ คือ ดวงอาทิตย์ การใช้ประโยชน์จากแสงอาทิตย์อย่างเหมาะสม จะเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก
    2. แสงสว่างจากการประดิษฐ์ (Artificial Lighting) เป็นแหล่งกำเนิดแสงสว่างที่มนุษย์ได้ประดิษฐ์คิดค้นโดยอาศัยธรรมชาติและเทคโนโลยี ได้แก่ หลอดไฟฟ้าชนิดต่างๆ เช่น หลอดไฟฟ้าชนิดไส้หลอด, หลอดฟลูออเรสเซนต์,หลอดเมอคิวรี ,หลอดโซเดียม เป็นต้น
แสงสว่างกับการมองเห็น
    แสงสว่าง เป็นสิ่งที่สำคัญมากต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ เพราะถ้าปราศจากแสงสว่าง การมองเห็นก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ แสงสว่างจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการมอง การรับรู้ การปฏิบัติงานต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง นอกจากแสงสว่างซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการมองเห็นของมนุษย์แล้ว ยังมีปัจจัยสำคัญอื่นๆที่ช่วยในการมองเห็น คือ

1. ความสามารถในการมองเห็นของดวงตา
2. ความสว่างของวัตถุ (Brightness) – ปริมาณแสงสว่างที่ตกกระทบลงบนวัตถุ
3. ขนาดและรูปร่างของวัตถุ (Size&Shape) – วัตถุที่มีขนาดใหญ่ย่อมจะมองเห็นได้ง่ายกว่าวัตถุที่มีขนาดเล็กในระยะที่เท่ากัน
4. ความแตกต่างระหว่างวัตถุกับฉาก (Contrast) – ฉากที่มืดจะให้ความรู้สึกในการมองเห็นน้อยกว่าฉากที่สว่าง
5. การเคลื่อนที่ของวัตถุ
6. สีของวัตถุ – สีแต่ละสีจะสะท้อนแสงได้ไม่เท่ากัน กลุ่มสีอ่อนจะสะท้อนแสงได้มากกว่า ทำให้วัตถุสีอ่อนมีความสว่างมากกว่าพวกที่มีสีเข้ม

2. อันตรายและผลกระทบต่อสุขภาพ
    แสงสว่าง มีความสำคัญอย่างมากที่จะช่วยให้ผู้ทำงานสามารถทำงานได้อย่างสะดวกสบาย ทำให้งานมีคุณภาพจากการที่สามารถมองเห็นชิ้นงานได้อย่างชัดเจน ซึ่งจะทำให้เกิดผลผลิตที่มีคุณภาพและมีปริมาณเพิ่มขึ้น และลดอัตราการสูญเสียของชิ้นงานได้ ฉะนั้น การจัดแสงสว่างในสถานที่ทำงานให้เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อมการทำงาน จึงมีความสำคัญต่อผู้ปฏิบัติงานและต่อเจ้าของสถานประกอบการ
    ปัญหาของแสงสว่างที่มีผลกระทบต่อผู้ทำงาน คือ

    1. แสงสว่างน้อยเกินไป จะมีผลเสียต่อตา ทำให้กล้ามเนื้อตาทำงานมากเกินไป โดยบังคับให้ ม่านตาเปิดกว้าง เพราะการมองเห็นนั้นไม่ชัดเจน ต้องใช้เวลาในการมองเห็นรายละเอียดนั้น ทำให้เกิดการเมื่อยล้าของตาที่ต้องเพ่งออกมา ปวดตา มึนศีรษะ ประสิทธิภาพและขวัญกำลังใจในการทำงานลดลง การหยิบจับ ใช้เครื่องมือเครื่องจักรผิดพลาดเกิดอุบัติเหตุขึ้น หรือไปสัมผัสถูกส่วนที่เป็นอันตราย
    2. แสงสว่างที่มากเกินไป แสงจ้าตาที่เกิดจากการแหล่งกำเนิดแสงโดยตรง (Direct glare) หรือ แสงจ้าตาที่เกิดจากการสะท้อนแสง (Reflected glare) จากวัสดุที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม เช่น ผนังห้อง เครื่องมือ เครื่องจักร โต๊ะทำงาน เป็นต้น จะทำให้ผู้ทำงานเกิดความไม่สบายใจ เมื่อยล้า ปวดตา มึนศีรษะ กล้ามเนื้อหนังตากระตุก วิงเวียน นอนไม่หลับ การมองเห็นแย่ลง นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดผลทางจิตใจ คือเบื่อหน่ายในการทำงาน ขวัญและกำลังใจในการทำงานลดลง เป็นผลทำให้เกิดอุบัติเหตุได้เช่นเดียวกัน
นอกจากอันตรายของแสงสว่างดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีอันตรายอื่นของแสงที่ไม่อยู่ในช่วงของความยาวคลื่นที่มองเห็นได้ อาทิเช่น

* อันตรายจากแสงเหนือม่วง ซึ่งจะทำให้นัยน์ตาอักเสบ ตาแดง หรือเยื่อบุตาในชั้นตาดำอาจถูกทำลาย ทำให้ขุ่นมองเห็นไม่ชัด จะพบในงานเชื่อมโลหะ การฆ่าเชื้อโรคโดยแสงเหนือม่วง งานเกษตรกลางแจ้ง งานก่อสร้างกลางแจ้ง งานถนอมอาหาร
* อันตรายจากแสงใต้แดง ช่วงคลื่นของแสงใต้แดงที่ยาวจะถูกกลืนไว้หมดโดยตาดำ ทำให้ตาขุ่น ส่วนช่วงคลื่นของแสงใต้แดงที่สั้นกว่าจะส่องผ่านตาดำและถูกดูดกลืนโดยเลนส์ จนเกิดเป็นต้อกระจกจากความร้อน (Heat Cataract) นอกจากแสงใต้แดงอาจจะทะลุทะลวงถึงจอภาพ (Retina) ของนัยน์ตา ทำให้เซลล์ของเรติน่าตายได้ ทำให้ไม่สามารถมองเห็นได้ชัด จะพบในงานอุตสาหกรรมเป่าแก้ว งานหล่อหลอมโลหะ งานเชื่อมชนิดต่างๆ และการอบสี เป็นต้น
* อันตรายจากแสงในช่วงคลื่นของความถี่วิทยุโทรทัศน์ ช่วงคลื่นนี้จะทำอันตรายต่อเลนส์ของนัยน์ตามากที่สุด เพราะมีการดูดกลืนของรังสีวิทยุ ทำให้เกิดความร้อนสูง ซึ่งนัยน์ตาจะมีการไหลเวียน หรือถ่ายเทความร้อนที่ไม่เพียงพอทำให้เซลล์ของนัยน์ตาเกิดการขุ่นมัวได้เร็ว ทำให้เป็นตาต้อได้

3. อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง
    สำหรับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับแสงสว่างนั้น ดูเหมือนว่ากิจการทุกประเภท จำเป็นต้องใช้แสงสว่างในการส่องสว่างในการทำงาน ความเข้มแสงสว่างจะเพียงพอกับงานที่ทำอยู่หรือไม่นั้น ขึ้นกับลักษณะงาน/ประเภทของงานนั้นๆ ซึ่งส่วนมากมักปฏิบัติงานในสถานประกอบการ งานทั่วไปที่ทำในอาคาร เช่น งานเย็บผ้า งานเขียน พิมพ์ อ่าน วาด งานตรวจสอบ งานผลิตเครื่องไฟฟ้า ผลิตเหล็กและเหล็กกล้า (บริเวณเตาไฟ บริเวณโรงกลิ้งเหล็ก) โรงชุบ งานผลิตเครื่องจักร เครื่องยนต์ งานเกี่ยวกับสารเคมี งานหล่อ งานประกอบชิ้นส่วน เป็นต้น งานบางประเภทต้องการความละเอียดมากในการปฏิบัติงานจึงย่อมต้องการปริมาณความเข้มแสงมากกว่างานที่ต้องการความประณีตหรือต้องการความละเอียดในงานปานกลางหรือเล็กน้อยและเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการทำงาน จึงได้มีมาตรฐานแนะนำความเข้มของแสงสว่างของแต่ละประเภทงานไว้สำหรับใช้ในการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขให้มีสภาพการทำงานที่เหมาะสมตามลักษณะงานที่ต้องใช้แสงสว่างในการปฏิบัติงาน อาทิเช่น

งานบางประเภทที่ต้องการแสงสว่างมากเป็นพิเศษ เช่น งานเย็บผ้าหรืองานตรวจสอบผ้าสีทึบ/สีเข้ม งานเจียระไน การประกอบอุปกรณ์/ชิ้นส่วนขนาดเล็ก เช่น นาฬิกา วงจรไฟฟ้า เป็นต้น
งานที่ต้องการแสงสว่างมาก เช่น งานกลึง งานตกแต่ง งานตรวจสอบคุณภาพต่างๆ งานซ่อมแซม การอ่านและการเขียน เป็นต้น
งานที่ต้องการแสงสว่างปานกลาง เช่น งานเย็บ งานประกอบชิ้นส่วนที่มีขนาดปานกลาง งานตัดหรืองานเลื่อย เป็นต้น
งานที่ต้องการแสงสว่างน้อย เช่น การสีข้าว การสางข้าว การเตรียมวัตถุดิบ เบื้องต้น เพื่อรอเข้ากระบวนการผลิต เป็นต้น นอกจากนี้มีงานบางประเภทที่ไม่ต้องการแสงสว่าง หรือต้องการแสงสว่างน้อยมาก เช่น งานในห้องมืด ห้องถ่ายรังสีต่างๆ เป็นต้น

4. มาตรฐานแสงสว่าง
    เกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัยในการทำงานของแสงสว่างตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเกี่ยวกับภาวะแวดล้อม หมวด 2 แสงสว่าง
    ข้อ 7 ภายในสถานที่ประกอบการที่ให้ลูกจ้างทำงาน ดังต่อไปนี้

(1) งานที่ไม่ต้องการความละเอียด เช่น การขนย้าย การบรรจุ การบด การเกลี่ยวัตถุชนิดหยาบ เป็นต้น ต้องมีความเข้มของแสงสว่างไม่น้อยกว่า 50 ลักซ์
(2) งานที่ต้องการความละเอียดเล็กน้อย เช่น การผลิตหรือการประกอบชิ้นงานอย่างหยาบๆ การสีข้าว การสางฝ้าย หรือการปฏิบัติงานขั้นแรกในกระบวนการอุตสาหกรรมต่างๆ เป็นต้น ต้องมีความเข้มของแสงสว่างไม่น้อยกว่า 100 ลักซ์

    ข้อ 8 ที่ที่ให้ลูกจ้างคนใดคนหนึ่งทำงาน ดังต่อไปนี้

(1) งานที่ต้องการความละเอียดปานกลาง เช่น การเย็บผ้า การเย็บหนัง การประกอบภาชนะ เป็นต้น ต้องมีความเข้มของแสงสว่างไม่น้อยกว่า 200 ลักซ์
(2) งานที่ต้องการความละเอียดสูงกว่าที่กล่าวใน (1) แต่ไม่ถึง (3) เช่น การกลึงหรือแต่งโลหะ การซ่อมแซมเครื่องจักร การตรวจตราและทดสอบผลิตภัณฑ์ การตกแต่งหนังสัตว์และผ้าฝ้าย การทอผ้า เป็นต้น ต้องมีความเข้มของแสงสว่างไม่น้อยกว่า 300 ลักซ์
(3) งานที่ต้องการความละเอียดมากเป็นพิเศษ และต้องใช้เวลาทำงานนาน เช่น การประกอบเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ที่มีขนาดเล็ก นาฬิกา การเจียระไนเพชร พลอย การเย็บผ้าที่มีสีมืดทึบ เป็นต้น ต้องมีความเข้มของแสงสว่างไม่น้อยกว่า 1,000 ลักซ์

    ข้อ 9 ถนนและทางเดินภายนอกอาคารในบริเวณสถานที่ประกอบการ ต้องมีความเข้มของแสงสว่างไม่น้อยกว่า 20 ลักซ์
    ข้อ 10 ในโกดังหรือห้องเก็บวัสดุ ทางเดิน เฉลียง และบันไดในบริเวณสถานที่ประกอบการต้องมีความเข้มของแสงสว่างไม่น้อยกว่า 50 ลักซ์
    ข้อ 11 ให้นายจ้างป้องกันมิให้มีแสงตรงหรือแสงสะท้อนของดวงอาทิตย์หรือเครื่อง กำเนิดแสงที่มีแสงจ้าส่องเข้าตาลูกจ้างในขณะที่ทำงาน ในกรณีที่ไม่อาจป้องกันได้ให้นายจ้างจัดให้ ลูกจ้างซึ่งทำงานในลักษณะเช่นว่าสวมใส่แว่นตา หรือ กระบังหน้าลดแสง ตามมาตรฐานที่กำหนด ไว้ในหมวด 4 ตลอดเวลาที่ทำงาน
    ข้อ 12 ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างซึ่งทำงานในถ้ำ อุโมงค์ หรือในที่ที่มีแสงสว่างไม่เพียงพอ สวมหมวกแข็งที่มีอุปกรณ์ส่องแสงสว่างตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ในหมวด 4 ตลอดเวลาที่ทำงาน

6. การป้องกันและการควบคุม
    การจัดให้มีแสงสว่างเหมาะสมกับการปฏิบัติงาน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการมองเห็นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดความรู้สึกในการมอง และในแง่เศรษฐกิจนั้น เป็นการนำพลังงานมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพและที่สำคัญ คือ เพื่อช่วยผลผลิตให้กับสถานประกอบการ การบำรุงรักษาระบบแสงสว่างให้มีสภาพดีคงอยู่เสมอ ก็เป็นวิถีทางการป้องกันและการควบคุม ในเรื่องของแสงสว่างที่เหมาะสมและดีที่สุด
การจัดแสงสว่างในสถานประกอบการให้มีสภาพที่เหมาะสม มีหลักในการพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ ดังนี้

  1. การเลือกระบบแสงสว่างและแหล่งกำเนิดแสงสว่าง
  2. ลักษณะของห้องหรือพื้นที่ใช้งาน
  3. คุณภาพและปริมาณของแสงสว่าง
  4. การดูแลบำรุงรักษาระบบแสงสว่าง

    1. การเลือกระบบแสงสว่างและแหล่งกำเนิดแสงสว่าง
    แสงสว่างตามธรรมชาติ เป็นแหล่งกำเนิดของแสงสว่างที่ดีที่สุดและถูกที่สุด การจัดพื้นที่ของสถานประกอบการให้มีพื้นที่ของหน้าต่างหรือช่องแสงเข้าจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ หากต้องการนำประโยชน์จากแสงสว่างธรรมชาติมาใช้ ควรให้มีพื้นที่ของหน้าต่างมากกว่า 1/3 ของพื้นที่ของสถานประกอบการ แต่ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงความร้อนที่จะเข้ามาด้วย
     2. ลักษณะของห้องหรือพื้นที่ใช้งาน
    ลักษณะของห้องหรือพื้นที่ใช้งาน นับเป็นส่วนสำคัญที่สุดในการที่จะนำรายละเอียดไปใช้เป็นข้อพิจารณาในการกำหนดความสว่างให้เหมาะสม เพื่อให้เกิดการมองเห็นที่ดี การจัดสภาพแวดล้อมในการมองเห็นเพื่อให้เกิดความรู้สึกสบาย และอยากทำงาน การพิถีพิถันในการเลือกใช้สี และวัสดุในการทำเพดานและผนัง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะช่วยเพิ่มการมองให้ได้ยิ่งขึ้น โดยจะลดการสูญเสียจากแสงสะท้อน การกระจายของแสงดีขึ้น ปกติแล้วการทาสีเพดานควรทาสีที่ใกล้เคียงกับสีขาว ให้มากที่สุดและผนังไม่ควรทาสีที่มีความมันวาว ควรทาสีอ่อนๆ

    3. ปริมาณของแสงสว่างที่เพียงพอและมีคุณภาพ
ลักษณะงานแต่ละชนิด ต้องการปริมาณแสงสว่างไม่เท่ากัน ลักษณะงานที่มีความละเอียดมาก หรือมีชิ้นงานขนาดเล็กมาก หรือทำงานกับงานที่มีสีทึบ ย่อมต้องการปริมาณแสงสว่างมากกว่างานที่มีชิ้นงานขนาดใหญ่หรือมีสีอ่อน นอกจากปริมาณแสงสว่างที่พอเหมาะกับลักษณะงานแล้ว คุณภาพของแสงสว่างก็มีความสำคัญมาก

คุณลักษณะของแสงสว่างที่ควรหลีกลี่ยง คือ
* การเกิดแสงจ้า (Glare)
* การเกิดเงา
การเกิดแสงจ้า (Glare)
     แสงจ้า (Glare) คือ จุดหรือพื้นที่ที่มีแสงจ้าเกิดขึ้นในระยะของเวลาลานสายตา (Visual field) ทำให้ตารู้สึกว่ามีแสงสว่างมากเกินกว่าตาที่จะปรับได้ เป็นสาเหตุของความรำคาญ ไม่สุขสบาย หรือความสามารถในการมองเห็นลดลง
     แสงจ้ามี 2 ชนิด คือ

1. แสงจ้าตาโดยตรง (Direct glare) เกิดจากแหล่งกำเนิดที่แสงสว่างจ้าในระยะลานสายตา ซึ่งอาจเกิดจากแสงสว่างที่ส่องผ่านหน้าตา หรือแสงสว่างที่เกิดจากดวงไฟติดตั้ง
การลดแสงจ้าจากหน้าต่าง ทำได้โดย
- ติดผ้าม่าน ที่บังตา บานเกร็ด ต้นไม้ หรือไม้เลื่อยต่างๆ
- เปลี่ยนเป็นกระจกฝ้าแทนกระจกใส
- เปลี่ยนทิศทางของโต๊ะและการนั่งทำงาน โดยให้แสงสว่างเข้าด้านข้าง หรือ นั่งหันหลังให้หน้าต่าง แทนการหันหน้าไปหาแสง

การลดแสงจ้าจากดวงไฟ ทำได้โดย

- การใช้โคมไฟ หรือที่ครอบลึกพอควร ขอบด้านในทาสีเข้มและผิวด้าน
- ติดตั้งโคมไฟให้ต่ำพอ เพื่อว่าแสงจ้าที่พื้นผิวจะถูกลบหายไป แต่ก็ให้มีระดับสูงพอที่จะช่วยในการส่องสว่าง

การติดตั้งโคมไฟให้มีระดับสูงที่พอเหมาะ

2. แสงจ้าจากการสะท้อน (Reflected glare) เกิดจากเมื่อแสงตกกระทบบนพื้นผิวต่างๆ เช่น วัตถุผิวมันและสะท้อนมาเข้าตา แสงจ้าชนิดนี้ จะก่อให้เกิดความรำคาญมากกว่าแสงจ้าโดยตรง การลดแสงจ้าจากการสั่นสะท้อน ทำได้โดย
- การปรับเปลี่ยนตำแหน่งของแหล่งแสง
- การลดความสว่างของแหล่งแสง
- การเสือกใช้ผิววัสดุที่มีการสะท้อนแสงต่ำ
- การทำแบคกราวด์ข้างเคียงให้สว่างกว่า โดยจัดวางนั้นให้พื้น/วัสดุผิวสีอ่อนให้อยู่ด้านหลัง

การเปลี่ยนตำแหน่งหลอดไฟให้เหมาะสมกับการปฏิบัติงาน

    * การเกิดเงา
        เงา เป็นอุปสรรคต่อการทำงานอย่างยิ่ง บริเวณที่มีเงามืดบนพื้นผิวของชิ้นงาน จะทำให้การทำงานลำบากยากยิ่งขึ้น มองไม่เห็นชัด คุณภาพของงานแย่ลง เมื่อยตา และอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้

การหลีกเลี่ยงการเกิดเงา ทำได้โดย
- การวางผังโต๊ะในลักษณะที่สามารถหลีกลี่ยงบริเวณที่จะเกิดเงา
- จัดกลุ่มดวงไฟสำหรับกลุ่มต่างๆ ของเครื่องจักร
- ใช้แสงสะท้อน เพื่อหลีกเลี่ยงแสงจ้า
- จัดทิศทางของแสงให้ดีขึ้น
- ดูแลความสะอาดและเพิ่มจำนวนหน้าต่างและช่องแสง เป็นต้น

4. การบำรุงรักษาแสงสว่าง
    แม้จะมีปริมาณและคุณภาพของแสงสว่าง ที่เหมาะสมกับการปฏิบัติงานนั้นแล้ว แต่หากไม่มีการดูแลบำรุงรักษาระบบแสงสว่างอย่างเหมาะสม ความเข้มของการส่องสว่างที่ได้รับจะเหลือเพียงครึ่งเดียว และทำให้การจัดแสงสว่างที่ดำเนินการไว้ไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติงานได้

สาเหตุที่ทำให้ระบบการส่องสว่างลดลง คือ

- ฝุ่น หรือสิ่งสกปรกที่ติดอยู่บนดวงไฟ พื้นผิวงานต่างๆ รวมทั้งพื้นผิวห้องด้วย อาทิ เช่น ฝ้า กำแพง เพดาน หน้าต่าง ช่องแสง เป็นต้น
- อายุการใช้งานของแหล่งกำเนิดแสง เช่น ดวงไฟ – หลอดฟลูออเรสเซนต์ ก่อนที่หลอดจะขาดหรือหมดอายุ ความสว่างของหลอดจะลดลง 25-30% เมื่อเทียบกับหลอดไฟใหม่
- การนำสิ่งของต่างๆ วางกีดขวางทางเข้าแสงสว่าง หรือบังทางที่แสงสว่างผ่านมายังบริเวณที่ปฏิบัติงาน

ข้อแนะนำในการป้องกันอันตรายจากแสงที่ไม่อยู่ช่วงของความยาวคลื่นที่มองเห็นได้

1. ให้คนงานที่ต้องทำงานเกี่ยวกับแสงจ้าสวมแว่นตากรองรังสีในขณะทำงาน
สำหรับงานเชื่อมด้วยไฟฟ้านั้นควรคำนึงถึงอันตรายที่จะเกิดกับผิวหนังด้วย ดังนั้น ควรใช้เครื่องใช้ป้องกันอันตรายที่มีลักษณะเป็นกระบังหน้ามีแว่นกรองแสงรวมอยู่และควรสวมเสื้อ แขนยาวและถุงมือเพื่อปกปิดผิวหนังไม่ให้สัมผัสกับรังสี
2. สําหรับงานเชื่อมด้วยไฟฟ้านั้นควรคำนึงถึงอันตรายที่จะเกิดกับผิวหนังด้วยดังนั้น ควรใช้เครื่องป้องกันอันตรายที่มีลักษณะเป็นกระบังหน้ามีแว่นกรองแสงรวมอยู่และควรสวมเสื้อแขนยาวและถุงมือเพื่อปกปิดผิวหนังไม่ให้สัมผัสกับรังสี
3. เมื่อคนงานที่ทำงานเกี่ยวข้องกับแสงจ้ามีอาการเจ็บแสบที่ตาและที่ผิวหนัง ควรให้หยุดพักจากงานเสียชั่วคราว เพื่อรักษาตัวจนกว่าจะหาย เพราะถ้ายังปล่อยให้ทำงานอยู่ต่อไป อันตรายที่เกิดจะรุนแรงมากขึ้น
4. การเลือกใช้แว่นตากันแสงและรังสี ควรจัดหาอย่างเหมาะสมและถูกต้องกับสภาพ อันตราย โดยการเลือกใช้แว่นตานั้นควรคำนึงถึงขนาดของความยาวคลื่นที่สามารถกั้นได้ และไม่รบกวนต่อการทำงาน รวมทั้งวิธีการบำรุงรักษาควรมีได้ด้วย
5. การควบคุมด้านสิ่งแวดล้อมและการบริหารงานในสถานประกอบการที่มีการใช้ แสงรังสี ควรมีการตรวจสภาพแวดล้อมและควบคุมเป็นประจำ เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน จะต้องตรวจสอบบริเวณที่เสี่ยงต่ออันตรายมากที่สุด และกำหนดชั่วโมงการทำงานและวิธีการบริหารงานด้านความปลอดภัย ทั้งนี้เพื่อไม่ให้คนงานปฏิบัติงานภายใต้สภาพแวดล้อม การทำงานที่มีอันตราย

เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง








Facebook